การปล่อยซอฟต์แวร์ออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว ถือว่าเป็นการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันเหนือคู่แข่ง ซึ่งทั่วไปแล้ว การจะพัฒนาซอฟต์แวร์จะใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานที่ค่อนข้างจะยาวนาน แต่กลับกัน ในบริษัทชั้นนำสามารถที่จะปล่อยซอฟต์แวร์ที่เพิ่งจะพัฒนาขึ้นมาใหม่ออกมาสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว
สิ่งที่ทุก ๆ บริษัทต้องการคือ การส่งมอบงานให้กับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วมากที่สุด ซึ่งการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายนี้มีอยูหนึ่งวิธีนั่นก็คือ การนำรูปแบบการทำงาน DevOps มาประยุกต์ใช้กับภายในองค์กร ในบทความนี้เราจะอธิบายว่าหลักการทำงานของ DevOps เป็นอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไรบ้าง
เกริ่นนำถึงปัญหาทั่วไประหว่างการทำงาน Development and Operations
ปัญหาที่ว่าทำไมบริษัททั่ว ๆ ไปจึงไม่สามารถปล่อยซอฟต์แวร์ได้อย่างรวดเร็วเท่ากับบริษัทชั้นนำ โดยปัญหานี้จะมีสองเป้าหมายที่หน่วยงาน IT จะต้องทำให้บริษัท คือ
- พัฒนาระบบให้ตามทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เพื่อให้ได้เปรียบทางการแข่งขัน
- ระบบที่ให้บริการต้องมีความเสถียร มั่นคง และต้องให้ความปลอดภัยแก่ลูกค้า
ซึ่งทั้งสองเป้าหมายนี้ ในส่วนแรกฝ่าย Developer จะเป็นคนรับผิดชอบ และในส่วนที่สองจะเป็นความรับผิดชอบของฝ่าย Operations แต่การที่จะทำให้เป้าหมายทั้งสองอย่างนี้สำเร็จไปพร้อม ๆ กันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เหตุผลก็เพราะว่าเป้าหมายทั้งสองขัดแย้งกัน หน่วย IT ไม่สามารถเปลี่ยนระบบด้วยความรวดเร็วในขณะที่จะทำให้ระบบมีความเสถียรไปพร้อม ๆ กันได้ การที่จะเปลี่ยนระบบแต่ละครั้งอาจจะเกิดอันตรายต่อระบบได้
DevOps คืออะไร?
DevOps นั้นย่อมาจากคำว่า “Development” และ “Operation” รวมกัน ซึ่งทั้งสองคำนี้ถ้านำมาแยกออกจากกันจะหมายถึง
- Development หมายถึง ทีมที่พัฒนาระบบให้ธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และความสามารถในการแข่งขัน รวมไปถึงเพื่อตามการเปลี่ยนแปลงของตลาด
- Operation หมายถึง ทีมที่ทำหน้าที่ให้บริการระบบอย่างมีประสิทธิภาพอยู่ตลอด ดูแลความเสถียร และสามารถส่งมอบให้ลูกค้าได้ภายในเวลาที่กำหนด
ซึ่งเมื่อทั้งสองคำนี้มารวมกัน DevOps จะหมายถึง รูปแบบการทำงาน ที่เกิดขึ้นจากการเชื่อมต่อการทำงานกันระหว่างทีม Development และ Operation โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของขั้นตอนผลิตซอฟต์แวร์ในองค์กรให้ออกสู่ตลาด และตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมทดสอบระบบ ในขณะเดียวกันซอฟต์แวร์นั้นต้องเป็นซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพ ความเสถียร และความน่าเชื่อถือ
DevOps มีความสำคัญอย่างไร?
DevOps จะทำให้องค์ผลิตซอฟต์แวร์ออกมาได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ยังคงคุณภาพได้ดีอยู่ นั่นก็เป็นเพราะในการผลิตโดยปกติ ทีม Devloper จะส่งงานไปให้ทีม Operation หนึ่งครั้งหลังจากที่เสร็จงาน แต่ในการทำงานแบบ DevOps สามารถส่งแบบย่อย ๆ เพื่อนำไปติดตั้ง และทดสอบเพื่อทำการเก็บฟีดแบ็กอยู่เรื่อย ๆ และนำไปพัฒนาแก้ไขอยู่ตลอด ซึ่งเป็นการปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้สิ่งที่ตรงกับความต้องการจริง ๆ
ดังนั้น องค์กรใดที่นำโมเดล DevOps มาปรับใช้ จะช่วยลดปัญหาการทำงานที่ซ้ำซ้อน ช่วยลดต้นทุนด้านเวลา และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในระบบได้
ทักษะพื้นฐานที่ควรมีสำหรับการทำ DevOps
ก่อนที่จะไปทราบถึงหลักการทำงานของ DevOps เป็นอย่างไร เราควรจะทราบถึงพื้นฐานความรู้ต่าง ๆ ก่อนจะเริ่มทำ DevOps โดยต้องมีความรู้เรื่องต่าง ๆ ดังนี้
1. Agile Methodology
เป็นแนวคิดการทำงานที่ให้ความสำคัญในการสื่อสารกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย การปรับปรุง และพัฒนาผลิตภัณฑ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะสามารถตอบสนองผู้ใช้งานได้อยู่ตลอดเวลา
2. Computer Infrastructure
เป็นอีกหนึ่งพื้นฐานของทุกคนที่ต้องการจะเริ่มทำ DevOps ควรจะรู้ โดยทุกคนควรจะสามารถนำ Application ไปรันบน Deployment Platform ให้ได้ หรือจะต้องทราบว่า จะต้องใช้งาน Platform แบบไหน ต้องทำอย่างไร มีข้อจำกัดอะไรบ้าง ต่อกับ Network ยังไง DNS ต้องเซทอย่างไร เป็นต้น
3. Tools & Technology Embracement
สำหรับใครที่ต้องการจะเริ่มทำ DevOps ควรจะต้องเรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และต้องศึกษาเทคโนโลยีทางฝั่งด้านการพัฒนา Software Development ควบคู่ไปด้วยเช่นกัน
4. Computer Security
ความมั่นคงทางคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องที่สำคัญมาก บางระบบต้องมีการตั้ง Firewall ให้ถูกต้อง ถ้าเซทผิดข้อมูลอาจจะรั่วออกอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้ยังมีช่องโหว่ที่เกิดขึ้นมาใหม่เรื่อยๆ ต้องคอยติดตามอัพเดท Patch อยู่ตลอด
หลักการทำงานของ DevOps เป็นอย่างไร?
เมื่อทราบถึงความหมายของ DevOps ไปแล้ว ในส่วนต่อไปจะอธิบายว่าหลักการทำงานของ DevOps เป็นอย่างไร
DevOps มีรูปแบบการทำงานที่ค่อนข้างจะตายตัว เป็นหลักการทำงานที่กระบวนการต่าง ๆ เน้นการทำงานไปได้อย่างอัตโนมัติ ไม่ต้องอาศัยคนควบคุมมากเท่าไหร่ ยกเว้นส่วนของการวางแผน การพัฒนา และการดูผลลัพธ์ ที่ยังจำเป็นจะต้องใช้คนมาควบคุมรายละเอียด โดย DevOps มีขั้นตอนการทำงานดังนี้
1. Plan
ก่อนที่จะเริ่มทำอะไรขึ้นมานั้น แน่นอนว่าต้องมีการวางแผนขึ้นมาก่อน การจะพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาก็เช่นกัน โดยจะต้องวางแผนร่วมกันทุกฝ่ายที่มีความเกี่ยวข้องก่อน ว่าโปรแกรมจะสามารถทำอะไรได้บ้าง จะพัฒนาโปรแกรมด้วยภาษาอะไร จะรันบน Platform ไหน จะนำไปลงไว้ที่ไหน เก็บข้อมูลอย่างไร ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นมา จะแก้ปัญหานั้นอย่างไร และจะพัฒนาขึ้นตอนการทำงานอย่างไร
2.Create
ในส่วนของขั้นตอนของการเขียนโปรแกรมขึ้นมา DevOps จะเข้ามาทำหน้าที่ให้ Developers สามารถทำงานบน Environment แบบเดียวกันได้ ไม่ว่าจะถูกพัฒนาบน OS ใดก็ตาม
3. Verify
การตรวจสอบโปรแกรมที่ถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และยิ่งโดยเฉพาะกับโปรแกรมขนาดใหญ่ที่ร่วมกันทำกับทีมงานจำนวนมาก วิธีที่สามารถทำให้รู้ผลเร็วที่สุดคือ การทำการทดสอบอย่างครอบคลุมในทุก ๆ Components ของโปรแกรม และให้โปรแกรมรันโดยอัตโนมัติทุกครั้งก่อนจะปล่อยโปรแกรมออกไป เมื่อเกิด Test Fail จะสามารถรู้ได้ทันทีว่ามีปัญหาเกิดขึ้น ให้หยุดการส่งงานที่มีปัญหา และสามารถเข้าไปแก้ปัญหาได้ทันท่วงที
4. Package
ก่อนที่จะส่งโปรแกรมขึ้นไปรันบน Server จะต้องมีการนำโปรแกรมไปใส่ไว้ใน Technology ที่ได้ทำการออกแบบมา เพื่อนำโปรแกรมไปรันได้อย่างราบลื่น โดยสามารถใช้ Docker ได้
ซึ่งเวลาใช้ จะต้องสร้าง Docker Image ที่เอาตัวโปรแกรมพร้อมสำหรับการรันใส่เข้าไปในนั้น และเอา Docker Image นี้ไป Deploy ที่ไหนก็ได้ที่สามารถรัน Docker ได้ หลังจากนั้นโปรแกรมก็จะรันขึ้นมาพร้อมใช้งาน
5. Release
เมื่อมี Docker Image แล้ว ก็พร้อมสำหรับนำโปรแกรมไปรันบน Deployment Platform ที่ต้องการ โดยจะต้องเลือก Deploy ให้ถูกที่
6. Configure
โปรแกรมที่พัฒนาขึ้นมานั้น จำเป็นต้องเป็นโปรแกรมที่ต้องตั้งค่าได้ เช่น การตั้งค่า Email ยิ่งมี Service แยกอื่นๆ ที่ต้องใช้แล้ว ยิ่งเรื่องที่สำคัญ เพราะ Development Server และ Production Server จะต้องอยู่แยกกัน ต้องหาวิธีสร้าง Docker Image มา 1 อัน แล้วใช้มัน Deploy ลงบน Environments ที่ต่างกันให้ได้
7. Monitor
ในส่วนสุดท้ายคือการตรวจสอบโปรแกรมที่ขึ้นไปแล้วว่าทำงานผิดปกติหรือไม่ ซึ่งมีความสำคัญมาก โดยเป็นการดูว่าโปรแกรมมีปัญหาตรงไหน ซึ่งมีความสำคัญในการแก้ไขบั๊ก อีกส่วนที่สำคัญเหมือนกันคือ การ Motoring ดูโหลดต่าง ๆ ของระบบ โดยเป็นการดูว่าตอนนี้มีกี่เครื่องที่เปิดใช้งาน เครื่องล่มหรือเปล่า หรือให้บริการได้อย่างทันท่วงทีที่ลูกค้าเข้ามาใช้ไหม
ข้อดีของการใช้ระบบการทำงาน DevOps
ในส่วนนี้จะมาพูดเกี่ยวกับข้อดีหลักการทำงานของ DevOps เป็นอย่างไร สามารถช่วยอะไรกับองค์กรได้บ้าง
- สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ลูกค้าได้รวดเร็วมากขึ้น เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด และมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นให้เกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจดียิ่งขึ้น DevOps จะช่วยให้นักพัฒนา และทีมปฏิบัติการบรรลุผลดังกล่าวได้
- ช่วยให้สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม และปรับปรุงผลิตภัณฑ์ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ยิ่งสามารถออกคุณสมบัติใหม่ๆ และแก้ไขจุดบกพร่องของสินค้าได้เร็วแค่ไหน ก็จะยิ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้า และสร้างความได้เปรียบต่อการแข่งขันได้รวดเร็วแค่นั้น การปรับปรุง และการส่งมอบอย่างต่อเนื่อง เป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้กระบวนการออกซอฟต์แวร์ทำงานอัตโนมัติตั้งแต่การสร้างไปจนถึงการปรับใช้
- ช่วยทำให้มั่นใจในคุณภาพการอัปเดตแอปพลิเคชัน และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อจะทำให้สามารถส่งมอบได้อย่างน่าเชื่อถือในความเร็วที่มากขึ้น ในขณะที่ยังคงรักษาประสบการณ์ใช้งานเชิงบวกของผู้ใช้ปลายทาง
- ช่วยสร้างทีมงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น Developer และทีมปฏิบัติการจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด นำลำดับการทำงานมารวมเข้าด้วยกัน โดยจะเป็นการช่วยลดความไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน และยังประหยัดเวลามากขึ้น
- ช่วยดำเนินการ จัดการโครงสร้างพื้นฐาน และกระบวนการพัฒนาในขนาดต่างๆ การทำงานอัตโนมัติ และความสอดคล้อง จะช่วยให้จัดการระบบที่ซับซ้อนหรือมีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีความเสี่ยงที่ลดลง
- สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังคงรักษาการควบคุม และการปฏิบัติให้มีความสอดคล้องกับกฎระเบียบ โดยไม่ต้องสูญเสียความปลอดภัยโดยใช้นโยบายการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ทำงานอัตโนมัติ
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ DevOps ที่น่ารู้
DevOps มีเรื่องที่หลาย ๆ คนมักมีความเข้าใจที่ผิดอยู่บ้าง โดยมีแต่ละเรื่องดังนี้
1. DevOps จะมาแทนที่ Agile
ซึ่งความเป็นจริงแล้ว DevOps สามารถใช้ร่วมกับ Agile ได้ และในหลักการบางอย่างของ DevOps ก็ถูกพัฒนา หรือนำมาจาก Agile เพราะอย่างนั้น การใช้ Agile ร่วมกับ DevOps จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
2. DevOps ไม่สามารถใช้ร่วมกับ ITIL ได้
แต่จริง ๆ แล้ว DevOps สามารถใช้ร่วมกับ ITIL ได้ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อจะสนับสนุน DevOps ที่เน้นเรื่องลดเวลาการออกซอฟต์แวร์สู่ตลาด และแก้ไข incident ให้ได้อย่างรวดเร็ว กระบวนการของ ITIL จะต้องทำให้กลายเป็นแบบ Automation ก่อน
3. DevOps ไม่สามารถใช้ร่วมกับหน่วยงาน Security และ Compliance
การที่ DevOps ขาดเรื่องกระบวนการควบคุมบางอย่าง หรือการไม่มี Security Review ในช่วงท้ายของงาน นั่นอาจจะส่งผลให้ Security และ Compliance รู้สึกไม่สมบูรณ์อยู่บ้าง แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้หมายความว่า DevOps จะไม่มีกระบวนการควบคุมเลย แทนที่จะทำกระบวนการควบคุมในช่วงท้ายของงาน DevOps ได้เปลี่ยนวิธีใหม่ โดยจะให้กระบวนการควบคุมไปแทรกอยู่ทุกจุดใน Software Development Life Cycle แทน ซึ่งจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าทั้งในด้านของคุณภาพ และความรวดเร็ว
4. DevOps หมายถึงการยุบหน่วยงาน Operations หรือ NoOps
หน่วยงาน Operations มีความสำคัญ แต่กระบวนการทำงานอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไป และเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์มากขึ้น เช่น ช่วยสร้าง Self-Serviced Platforms เพื่อให้ Developer สามารถสร้าง Environment และ Deploy Code เองได้
5. DevOps ต้องใช้ Open Source Software เท่านั้น
ถึงแม้องค์กรที่นำ DevOps ไปใช้ และประสบความสำเร็จส่วนใหญ่จะใช้ซอฟต์แวร์ เช่น Linux , Apache , PHP , Java แต่ทว่าความสำเร็จของ DevOps ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีที่ใช้ โดยบริษัทที่ใช้ Embedded System ก็สามารถที่จะประสบความสำเร็จกับ DevOps ได้เช่นกัน
6. DevOps คือแค่การใช้ Tools และการ Automation
Tools และการ Automation ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของ DevOps สิ่งที่สำคัญกว่า คือ หลักการ แนวคิด และกระบวนการ ที่ทำให้ทุกฝ่ายทำงานเพื่อให้บริษัทสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
7. DevOps มีไว้สำหรับ Startup เท่านั้น
DevOps ถูกเริ่มต้นนำมาใช้โดยบริษัท Startup ระดับยักษ์ใหญ่ เช่น Google , Amazon , Netflix แต่ก็ไม่ได้แปลว่า DevOps จะมีไว้สำหรับบริษัท Startup เพียงเท่านั้น เพราะสามารถนำไปใช้กับบริษัททั่วไปที่กำลังประสบปัญหาต่าง ๆ ได้ เช่น การ Release Feature ใหม่ที่ไปกระทบ Code เก่าจนทำให้ระบบเกิดทำงานผิดปกติ , ปัญหาจากการ Scale ระบบ , ปัญหา Release Feature ที่ช้าจนทำให้ไม่ทันคู่แข่ง , ปัญหาการทำงานร่วมกันระหว่าง Development และ Operations และปัญหาอื่น ๆ ซึ่งถ้าเจอปัญหาเหล่านี้ บริษัททั่วไปก็สามารถนำ DevOps ไปปรับใช้ได้
สนใจบริการด้าน DevOps รวมถึงบริการ Development อื่นๆ ของ Criclabs ต้องทำอย่างไร?
Criclabs เป็นบริษัทรับพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ธุรกิจ ที่มีบริการให้คุณได้เลือกสรรมากมาย ทั้งรับพัฒนาระบบเว็บและเขียนแอพ บริการวางแผนกลยุทธ์ด้านดิจิทัล และอีกหลากหลายบริการ หากคุณมีความสนใจเราสามารถมอบคำแนะนำ แนวทาง เพื่อตอบโจทย์ทุกความต้องการของคุณอย่างแน่นอนครับ